Siambeetle forum

 ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ดู: 4717|ตอบ: 0

จุดประกายนักเพาะด้วงรุ่นใหม่ [คัดลอกลิงก์]

Rank: 25Rank: 25Rank: 25Rank: 25Rank: 25Rank: 25Rank: 25

เวลาออนไลน์
1477 ชั่วโมง
UID
1
เครดิต
8072
ความเทพ
766
ประสบการณ์
4261
ทองคำ
201
โพสต์
1877
กระทู้
197
สมัครสมาชิกเมื่อ
2012-1-16
เข้าสู่ระบบล่าสุด
2017-1-28
โพสต์เมื่อ 2016-4-18 16:03:33 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

เวลาที่เราจะเลี้ยงสัตว์อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมากก่อนอื่นจะเริ่มจากการจุดประกายบางสิ่ง เช่นเกิดจากความน่ารักของน้องสัตว์ชนิดนั้น หรือมีคนแนะนำให้ได้ลองรู้จัก


สำหรับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่ชื่อว่าด้วงนั้น อาจจะมีจุดเริ่มต้นที่ต่างจากสัตว์อื่นอยู่บ้าง เพราะถ้าจะถามว่าด้วงน่ารักเหมือนสุนัขหรือแมวไหม ผมเองก็ตอบได้เต็มปากว่าไม่น่ารักเหมือนสัตว์กลุ่มนั้นนะ แล้วทำไมถึงได้มีคนสนใจแมลงกลุ่มนี้กันละ ผมจะเล่าเหตุผลที่น่าสนใจแต่ละข้อให้ฟัง อาจจะเป็นการเริ่มจุดประกายอะไรบางอย่างให้หันมามองแมลงกลุ่มนี้กันบ้างก็ได้


ชีวิตที่น่าทึ่ง
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีชีวิตที่น่าทึ่งทั้งนั้น เช่น สัตว์เลื้อยคลานก็มีรอบวงจรที่น่าสนใจและก็อาจจะอยู่ได้นานกว่าด้วงตัวน้อยๆนี่ เราจะได้พบไข่และลูกน้อยๆที่ฟักออกมา ได้ฟูมฟักจากตัวเล็กให้เติบโตไปเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ ได้ทดลองเพาะพันธุ์เพื่อผลิตลูกๆชุดต่อไปสำหรับนักเลี้ยงที่เริ่มมีประสบการณ์ เป็นการเติมเต็มความสุขในการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
แต่สำหรับด้วง การที่เราได้ลองเลี้ยงพวกเขานั้นเราจะได้พบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละขั้นตอน และการดูแลพวกเขานั้นก็แตกต่างกันออกไปในทุกๆช่วงวัยอีกด้วย จากชั้นเรียนในระดับมัธยมทำให้เราทราบกันดีว่าด้วงนั้นเป็นแมลงกลุ่มหนึ่งที่มีการวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ หรือมีการพัฒนาร่างกายครบทุกระยะ ตั้งแต่ ไข่-ตัวอ่อน-ดักแด้-ตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นมาแต่ทว่ามีข้อเสียเล็กๆที่อายุไม่ยืนยาวมากนัก และด้วยข้อเสียเล็กๆนี้เองทำให้นักเลี้ยงสามารถได้พบกับวัฒจักรวงจรชีวิตของด้วงครบรอบได้ภายในเวลาไม่กี่ปี หรือด้วงบางชนิดอาจจะได้เห็นครบรอบภายในปีเดียวเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะได้เลี้ยงด้วงมาแล้วหลายชนิดหรือหลายตัวแล้วก็ตาม การที่ได้พบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามวัฒจักรชีวิตนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าทึ่งทำให้ต้องมาสนใจด้วงอยู่เสมอๆนั่นเอง


เฝ้าอดทนเพื่อดูผลลัพท์ที่ตามมา
ความน่าตื่นเต้นนี้เป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงตัวหนอนอย่างอดทนและเฝ้ารอ นักเลี้ยงทุกคนจะต้องเปลี่ยนอาหารอย่างเป็นประจำทุกๆระยะเวลา เพื่อบำรุงตัวหนอนน้อยๆในกระปุกที่ตลอดช่วงระยะการเลี้ยงตัวหนอนนั้นแทบจะไม่มีโอกาสได้พบเห็นเท่าไรนักให้เจริญเติบโตและอ้วนท้วนสมบูรณ์ เราเฝ้าวัดการเจริญเติบโตของหนอนด้วยการชั่งน้ำหนัก ตัวหนอนที่มีน้ำหนักมากนั่นก็จะส่งผลให้ตัวด้วงที่จะเกิดมานั้นมีขนาดใหญ่ตามไปด้วยนั่นเอง ในช่วงระยะเวลานี้ ยิ่งนักเลี้ยงมีประสบการณ์มากเท่าไรก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นและสนุกมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากการเลี้ยงในครั้งก่อน และนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงในครั้งปัจจุบัน เพื่อทำให้ด้วงที่จะเกิดมานั้นมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมและทำลายสถิติเก่าที่เคยทำไว้ให้ได้ มีการบันทึกสถิติการเลี้ยงด้วงไว้ทุกๆปี และความน่าสนใจนั้นอยู่ตรงที่ว่าขนาดด้วงที่นักเลี้ยงได้ทำการเพาะออกมานั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร แต่นั่นก็คือความสำเร็จที่น่าภูมิใจของนักเลี้ยงคนหนึ่งแล้ว และการเพาะด้วงให้มีขนาดใหญ่กว่าตัวจับจากธรรมชาตินั้นไม่ใช่แค่ความฝันอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถทำได้แล้วด้วยในปัจจุบันนี้


ช่วงเวลาแปลงกาย
มันจะมีความสุขมากขนาดไหนที่เห็นหนอนตัวหนึ่งที่เลี้ยงมาร่วมๆปี กำลังจะแปลงร่างเพื่อเป็นดักแด้ จริงๆแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่อันตรายสุดๆสำหรับด้วงทุกตัว ถ้าเขาถูกขุดออกมาจากโพรงที่เขาได้ทำเตรียมไว้เพื่อที่จะนอนพักในระยะดักแด้อย่างสงบ แต่เราก็ยังพยายามขุดเขาออกมาเพียงเพื่อได้มีโอกาสได้ชมการแปลงร่างอันน่ามหัศจรรย์ ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น หากนั่นคือการเลี้ยงหนอนครั้งแรกของคุณ มันจะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะไม่มีวันลืมไปตลอดกาล และก็จะไม่สามารถจินตนาการก่อนหน้านี้ได้เลยว่าหนอนตัวอ้วนๆกลมที่เห็นนั้น สามารถยืดเขาแหลมๆยาวๆ หรือเขี้ยวใหญ่ๆออกมาได้อย่างไรกัน จนกว่าจะได้เห็นเขาหรือเขี้ยวเหล่านั้นงอกออกมาให้ชมจริงๆ ผมเชื่อว่านักเลี้ยงทุกคนที่เข้ามาสัมผัสการเลี้ยงด้วงต้องมีสักครั้งหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยชมวินาทีแปลงร่างอันนี้ และถ่ายรูปบันทึกไว้รัวๆ


มันคือเจ้าแห่งนักสู้แสนเท่ห์
ลองนึกว่าเรากำลังยืนอยู่หน้าสนามมวยแห่งหนึ่งในเมืองไทย ที่หน้าสนามนั้นมีป้ายโชว์รูปนักมวยแอคติ้งท่าทางเตรียมชก มีนักมวยที่แต่งตัวฟิตซ้อมมาอย่างดีกำลังฟิตร่างกายเพื่อเตรียมขึ้นชก สำหรับคนที่หลงไหลในการชกมวยก็จะเริ่มบอกว่าท่าแบบนี้เท่ห์หรือเจ๋งดีจัง หรือบางคนที่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสก็อาจจะมองว่ามันดูน่าตื่นตาหรือแปลกใหม่จากมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บางคนก็อาจจะชอบกล้ามเนื้อหรือเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในงานกีฬา เจ้าด้วงก็เปรียบเสมือนนักมวยคนหนึ่ง ในมุมๆหนึ่งมันมีความเท่ห์ทรงเสน่ห์แฝงอยู่ในตัว เขาที่แหลมใหญ่พร้อมที่จะเข้าต่อสู้กับคู่ต่อสู้อีกฝ่าย สีตามลำตัวหรือแม้แต่บนหัวและช่วงเขาเงางามเป็นเอกลักษณ์ เวลาที่เกาะกับท่อนไม้แล้วพร้อมสู้มันช่างดุดัน ซึ่งถ้าลองมองสิ่งมีชีวิตตัวนี้ดีๆ ระวังอาจจะตกเป็นทาสความขลังของเขาก็ได้


นี่คือการผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่ใกล้ตัวสุดๆ
การบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆมี 5 ขั้นตอน
1. ตั้งปัญหา
2. รวบรวมข้อมูล
3. ตั้งสมมติฐาน
4. ทดลองพิสูจน์
5. สรุปผล


ทำไมการจะเลี้ยงด้วงสักตัวหนึ่งถึงเป็นวิทยาศาสตร์ไปได้? ผมไม่อยากบอกคนที่สนใจจะเลี้ยงว่าเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก เพราะดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และอาจจะทำให้ท้อใจไปเสียก่อนได้ แต่จริงๆแล้วกระบวนการทั้งห้าขั้นตอนนั้นได้ถูกสอดแทรกเข้าไปในการเลี้ยงด้วงอยู่ตลอดเวลาโดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว


1.ตั้งปัญหา - ตั้งแต่คุณซื้อด้วงไปนั้นเท่ากับคุณได้ซื้อโจทย์ปัญหาไปแล้วข้อหนึ่ง
2.รวบรวมข้อมูล - ทุกคนที่ซื้อไปจะเริ่มสอบถามหาข้อมูลเจ้าด้วงที่ซื้อมาว่าชื่ออะไร ทานอะไร อายุอยู่ได้นานไหม จะเพาะยังไง เพาะยากไหม ชอบอากาศเย็นขนาดไหนเป็นการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นก่อน
3.ตั้งสมมุติฐาน - ก่อนที่จะลงมือเพาะ นักเลี้ยงจะคิดว่าตู้สำหรับเพาะเลี้ยงนั้นควรจะใช้ขนาดเท่าไร และจัดตู้ด้วยวิธีการไหนเพื่อที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หรือแม้แต่การคิดสูตรอาหารหรือวิธีการเปลี่ยนอาหารให้ตัวหนอนแบบต่างๆเพื่อทำให้หนอนมีขนาดใหญ่และหนักมากที่สุดก่อนที่จะทำการทดลองจริง
4.ทดลองพิสูจน์ - คือช่วงลงมือเพาะเลี้ยงจริงๆ ทดลองเพื่อหาคำตอบจากสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ในช่วงนี้ก็ควรจะจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือแม้แต่สภาพอากาศต่างเข้าไปด้วย เป็นการฝึกการจดบันทึกและสังเกตุซึ่งเป็นความสามารถที่ควรจะมีติดตัวไปทุกคน
5.สรุปผล - ผลสรุปจะออกมาจากการลงมือเพาะเลี้ยงนั่นเอง แต่ละคนก็จะได้ข้อสรุปที่ต่างกันออกไปว่าแนวทางไหนดีที่สุด หรือแนวทางไหนไม่ควรทำตาม ยิ่งทดลองมากเท่าไร ยิ่งได้ข้อสรุปที่ละเอียดและดีมากขึ้นเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ต้องทดลองเป็นร้อยๆครั้งเพื่อหาคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ก่อนที่จะสรุปตำตอบจากสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยๆปีจนถึงปัจจุบัน


และเนื่องจากสาเหตุอันนี้เอง ทำให้มีกลุ่มผู้ปกครองบางกลุ่มแนะนำให้ลูกๆได้ลองเลี้ยงด้วง เพื่อให้เด็กๆนั้นได้ฝึกปฏิบัติกระบวนการทั้งห้านี้ไปในตัวโดยที่เด็กๆนั้นไม่รู้ตัวเลยว่าเขากำลังทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่นั่นเอง และที่สำคัญหลังจากประสบความสำเร็จในการเลี้ยงจนครบรอบแล้ว เด็กๆเหล่านั้นจะจดจำสิ่งที่จะเกิดขึ้นไปโดยที่ไม่ต้องมีการท่องจำเลยแม่แต่ครั้งเดียว ซึ่งรวมไปถึงวงจรชีวิตของแมลงตัวนี้ที่เขากำลังดูแลอยู่ด้วย


ห้าหัวข้อที่ได้พูดมา เพียงพอไหมที่จะทำให้หันมามองแมลงตัวเล็กๆกลุ่มนี้ที่เรียกว่าด้วงหรือแมลงปีกแข็ง



จุดประกายนักเพาะด้วงรุ่นใหม่.jpg







คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รูปแบบข้อความล้วน|Siambeetle

GMT+7, 2024-3-28 20:42 , Processed in 0.033851 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X2

© 2001-2011 Comsenz Inc.

ขึ้นไปด้านบน